วัดคลองท่อม

จากที่พำนักสงฆ์คลองท่อมจนเป็นวัดคลองท่อม ปัจจุบันวัดคลองท่อมมีอายุ ๑๐๕ ปี
วัดคลองท่อม ตั้งอยู่ที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ถนนเพชรเกษม ห่างจากตัวเมืองกระบี่ประมาณ 40 กม. เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พระครูอาทรสังวรกิจ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงวัตถุโบราณของอำเภอคลองท่อม อาทิ ลูกปัด เครื่องมือโบราณ เป็นต้น เปิดบริการเวลา 08.30 - 12.00 และ 13.00 - 16.30 ปิดทุกวันพุธ

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พิพิธภัณฑสถานวัดคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ( พิพิธภัณฑ์พระครูอาทรสังวรกิจ )

     พิพิธภัณฑสถานวัดคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ( พิพิธภัณฑ์พระครูอาทรสังวรกิจ ) ตั้งอยู่บริเวณ                     วัดคลองท่อม บนถนนเพชรเกษม หลักกิโลเมตรที่71-72 ห่างจากที่ว่าการอำเภอคลองท่อมประมาณ          1 กิโลเมตร พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เก็บสะสมสิ่งของ วัตถุโบราณจำนวนมากมายซึ่งขุดค้นพบได้ในบริเวณที่เรียกว่า "ควนลูกปัด" อันเป็นเนินดินหลังวัดคลองท่อม อาทิ เครื่องมือหิน เครื่องประดับซึ่งทำจากหินและดินเผา รูปสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกปัดอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ของมนุษย์สมัยเมื่อ 5,000 ปีเศษมาแล้ว เปิดให้เข้าชมเวลา 8.30-11.00 น. และ 13.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม                 ( ปิดทุกวันพุธ )

ประวัติและความเป็นมาของพิพิธภัณฑสถานวัดคลองท่อม
ในปี ๒๕๐๙ : พระครูอาทรสังวรกิจ เจ้าอาวาสวัดคลองท่อม ได้รวบรวมลูกปัดมาไว้ที่วัดคลองท่อม และได้นำลูกปัดส่วนหนึ่งส่งให้กรมศิลปากรจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช เหตุการณ์นี้จึงทำให้ประชาชนรู้จัก ลูกปัดคลองท่อม ชุมชนโบราณแห่งหนึ่งของภาคใต้ในปัจจุบัน

ในปี ๒๕๑๐ : อธิบดีกรมศิลปากรพร้อมคณะได้เดินทางออกสำรวจแหล่งลูกปัดในชุมชนคลองท่อม

ในปี ๒๕๑๖ : อาจารย์มานิตย์ และ อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ได้สำรวจแหล่งโบราณคดีคลองท่อม และตั้งข้อสันนิษฐานว่า เป็นเมืองท่าโบราณและเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญ มีหลักฐานการติดต่อค้าขายกับชนชาติกรีกและโรมัน

ในปี ๒๕๒๒ : คณะสำรวจงานวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร เข้ามาสำรวจแหล่งโบราณคดี ได้พบวัตถุโบราณ ที่มีความสำคัญทางโบราณคดีอย่างยิ่ง เพราะจากการสำรวจ ได้ขุดพบลูกปัดจำนวนมาก อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๕-๑๒

ในปี ๒๕๒๕ : พระครูอาทรสังวรกิจ เจ้าอาวาสวัดคลองท่อม ได้รวบรวมลูกปัด ที่สะสมไว้ทั้งหมดและก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานวัดคลองท่อม ขึ้น เพื่อเป็นสถานที่เก็บวัตถุโบราณของชุมชนคลองท่อม

ในปี ๒๕๔๙ – ปัจจุบัน : นายพิริยะ ศรีสุขสมวงศ์ นายกเทศมนตรี ต.คลองท่อมใต้ ได้ดำเนินการบูรณะและจัดระเบียบภายในพิพิธภัณฑ์สถานวัดคลองท่อม เพื่อให้บริการแก่เด็ก เยาวชน ประชาชน และ              นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้เดินทางมาศึกษาหาความรู้

ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของลูกปัดคลองท่อม
       ลูกปัด หมายถึง วัตถุดิบหรือประดิษฐกรรม และอนินทรีวัตถุต่าง ๆ ตั้งแต่ ไม้ หิน แร่ กระดูก ฟัน เขี้ยวสัตว์ เปลือกหอย ปะการัง เมล็ดพืช ดินปั้น ดินเผา แก้วน้ำเคลือบ แก้วหลอม โลหะหลอม เช่น ทอง เงิน ตะกั่ว เหล็ก พลาสติก ตลอดจนสารสังเคราะห์ ฯลฯ เมื่อนำมาขัด ฝน หรือ หลอมหล่อรูปทรง และแต่งแต้มให้เป็นรูปลักษณะต่าง ๆ แล้วต้องมีรูเพื่อร้อยด้าย หรือเชือก สำหรับ ห้อยหรือแขวน ประดับ ตกแต่งร่างกาย หรือสถานที่ ซึ่งการประดิษฐ์ลูกปัดด้วยเศษวัสดุ และ กรรมวิธี ตลอดจนลักษณะรูปทรงต่าง ๆ กัน ย่อมไปสอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอย และเป็นไปตามแนวคิด ความเชื่อ ประเพณีนิยม และ ค่านิยม ตามสภาพที่เหมาะสมของยุคสมัย ในแต่ละชุมชน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยชุมชนประวัติศาสตร์ และชุมชนปัจจุบัน         ชุมชนคลองท่อมโบราณ เป็นแหล่งอุตสาหกรรม ในการทำลูกปัดโบราณที่มีขนาดใหญ่มาก ลูกปัดที่ถูกฝังอยู่กับอดีตมานับเป็นพัน ๆ ปี มีตำนานสักเท่าใดใครก็ไม่อาจยืนยันได้แน่นอน รู้แต่ว่า มีจำนวนมากมายมหาศาล ทุกคนที่เกิดมารุ่นหลัง ๆ จนถึงปัจจุบันก็พบว่า มีลูกปัดอยู่ในบริเวณชุมชน คลองท่อมโบราณอยู่แล้ว ชาวบ้านรุ่นก่อน ๆ พบลูกปัดบริเวณนี้มานานแล้วแต่เนื่องจากเห็นเป็นวัตถุโบราณ ไม่มีใครนิยมเก็บมาไว้เป็นสมบัติส่วนตัว
 ด้วยลูกปัดคลองท่อม เป็นแหล่งโบราณคดี ที่สันนิษฐานว่า เคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมในการทำลูกปัดที่ใหญ่ เพราะพบลูกปัดจำนวนมาก อีกทั้งมีรูปแบบ และวัสดุที่นำมาใช้ทำลูกปัดอันหลากหลาย มีขนาดตั้งแต่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 มิลลิเมตร ไปจนถึง 1.5 เซนติเมตร ยาว 1 ถึง 8.4 เซนติเมตร ลูกปัดคลองท่อมมีรูปแบบต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายและมีรูปแบบมากกว่าแหล่งอื่น ๆ ที่พบในประเทศไทย

ประวัติผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานวัดคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ( โดยสังเขป )

        ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานวัดคลองท่อมคือพระครูอาทรสังวรกิจ (สวาส)ฉายา กนฺตสงฺวโร นามสกุล เอี่ยวน้อย อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองท่อม เจ้าคณะอำเภอคลองท่อมและอำเภอเกาะลันตา

ประวัติ

          เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๖๘ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู สถานที่เกิด ๑๖              หมู่ ๖ ตำบลปกาไส อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เป็นบุตรของนายล่อง เอี่ยวน้อย (ถึงแก่กรรม)กับนางเคียบ เอี่ยวน้อย (ถึงแก่กรรม) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๙ คน เสียชีวิตไปแล้ว ๕ คน (พ.ศ.๒๕๔๑)

              อุปสมบทเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๔๘๙ ณ วัดธรรมาวุธสรณาราม (วัดบ่อพอ/คลองเสียด) ตำบลปกาไส โดยมีพระราชสุตกวี (สิงห์) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วไปจำพรรษาที่วัดแก้วโกรวาราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๔๙๕ ศึกษาธรรมวินัยที่วัดแก้วโกรวาราม สอบได้นักธรรมชั้นโท 
พ.ศ. ๒๔๙๕ - ๒๔๙๘ ได้ไปจำพรรษาที่จังหวัดพังงา และได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งครูสอนพระปริยัติธรรม 
พ.ศ.๒๔๙๘ - ( จนมรณะภาพ ) ได้ย้ายกลับมาอยู่วัดคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ระยะแรกได้ปฏิบัติหน้าที่ครูสอนพระปริยัติธรรม จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๗

ตำแหน่ง

พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นเจ้าอาวาสวัดคลองท่อมเป็นกรรมการตรวจสอบนักธรรมชั้นตรี 
พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นองค์การเผยแพร่ อำเภอคลองท่อมและอำเภอเกาะลันตา 
พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็นเจ้าคณะตำบลคลองท่อมใต้และอำเภอเกาะลันตา 
พ.ศ. ๒๕๑๗ ( ตำแหน่งสุดท้าย ) เป็นเจ้าอาวาสวัดคลองท่อม ตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่และเจ้าคณะอำเภอคลองท่อมและอำเภอเกาะลันตา
ปัจจุบัน  - มรณะภาพ

ผลงาน

๑.ผลงานด้านพระศาสนา สนับสนุนพระภิกษุ สามเณรเรียนรู้พระปริยัติธรรมศึกษา เปิดการสอนนักธรรมส่งเข้าสอบเป็นประจำทุกปี 
๒.งานพัฒนาวัดในด้านต่างๆ เช่น ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ สร้างกุฏิสงฆ์ สร้างฌาปนสถาน ปฏิสังขรณ์ศาลาท่าน้ำ ต่อเติมอาคารศาลาการเปรียญ (เอนกประสงค์)สร้างที่เก็บน้ำฝนประเมินราคาหลายล้านบาท          
๓.ร่วมมือกับทางคณะสงฆ์และทางราชการ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น 
๔.ควบคุมการก่อสร้างเสนาสนะทุกวัดในเขตการปกครอง 
๕. เป็นองค์การเผยแพร่อบรมจริยธรรม ปาฐกถาธรรมแก่เยาวชนในโรงเรียนและประชาชนทั่วไป 
๖. พัฒนาอาคารสถานที่และจัดสิ่งแวดล้อมของวัด จนเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของกรมศาสนา

ผลงานดีเด่น

๑.ผลงานด้านการสะสมสมบัติทางวัฒนธรรมและโบราณคดี

ท่านพระครูอาทรสังวรกิจ ได้มาอยู่ที่วัดคลองท่อมตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๘ แหล่งโบราณคดีหรือที่เรียกว่าควนลูกปัดในขณะนั้นยังไม่เป็นที่สนใจของผู้คน ชาวบ้านแถบนั้นพบเห็นลูกปัดกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แต่ก็ไม่มีใครคิดเอาไปใช้ประโยชน์อันใด คงเข้าใจว่าเป็นวัตถุโบราณอาจเกิดอาถรรพณ์กับผู้นำไปใช้ได้ เพราะเคยปรากฎอยู่ว่าเคยมีคนเก็บไปแล้วเกิดอาการไม่สบายก็เลยเชื่อกันต่อๆมา จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๐๙ ท่านพระครูอาทรสังวรกิจ ได้เก็บมารวบรวมไว้ที่วัด รวมทั้งโบราณวัตถุอื่นๆที่มีอยู่ในวัด เช่น พระพุทธรูป เศษเครื่องปั้นดินเผา และอื่นๆ ที่คนนำมาถวายบ้าง เก็บเองบ้างเพราะท่านเกิดความคิดว่าสิ่งเหล่านี้ต่อไปภายหน้าอาจหาดูไม่ได้ เด็กรุ่นต่อไปก็จะไม่ได้ศึกษา จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เก็บสะสมเรื่อยมาเป็นเวลาหลายสิบปี บางส่วนก็ได้แบ่งให้กรมศิลปากร เพื่อจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๖ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม และอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้เดินทางไปสำรวจแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ให้ความเห็นว่า บริเวณนี้อาจทำหน้าที่เป็นเมืองท่า เชื่อมฝั่งการเดินทางของเหล่าบรรดาพ่อค้า

๒.ผลงานการสร้างพิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม

ท่านพระครูอาทรสังวรกิจ ได้สร้างอาคารเล็กๆ ขึ้นหลังหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นสถานที่เก็บสะสมโบราณวัตถุที่ขุดพบจากควนลูกปัด โดยอาศัยแรงศรัทธาจากชาวบ้านและผู้มาเยี่ยมเยือนเป็นผู้บริจาค นับเป็นบุคคลแรกที่เปิดประตูคลองท่อมให้ชาวโลกรู้จัก ด้วย วัตถุโบราณที่ท่านได้สะสมไว้ส่วนหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๙ ซึ่งวัตถุโบราณที่ขุดพบที่ควนลูกปัดแห่งนี้ได้สูญหายไปเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวที่สามารถให้ผู้สนใจไปศึกษาค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้ โดยเฉพาะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาถึง ๒ ครั้ง













 ลูกปัดสุริยะเทพ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซ็นติิเมตร นอกจากนี้ยังมีลวดลายคล้ายรูป
หน้าตาของสุริยเทพ หินมีขอบสีเขียวและสีแดงสลับกันคล้ายรัศมีแสงอาทิตย์ 
คาดว่ามีอายุต่ำกว่า 2,000 ปี และไม่สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้
     ลูกปัดสุริยะเทพ ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดแห่งลูกปัดโบราณ เนื่องจากมีการค้นพบเพียงแหล่งเดียวที่ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เท่านั้น เริ่มแรกเรียกชื่อกันอย่างตรงไปตรงมาว่า "ลูกปัดหน้าคน" แต่ต่อมาก็ดูแล้วพบว่าเหมือนอินเีดียแดงที่ประดับศีรษะด้วยขนนก จึงพากันเรียกว่า "ลูกปัดหน้าอินเดียนแดง" กันอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาจึงเรียกว่า " ลูกปัดสุริยเทพ " ดังปัจจุบันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น